Home / Knowledge of Health

โรค มือ เท้า ปาก

"โรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-And-Mouth Disease)"
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Enterovirus และ coxsackie A16 พบมากฤดูฝนและต้นฤดูหนาว

วิธีติดต่อ
ติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง และอุจจาระ ของผู้ติดเชื้อ มีระยะฟักตัว 3-7 วัน หลังสัมผัสเชื้อ

สถานที่และพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ
สถานที่แออัด เช่น เนอสเซอรี่ โรงเรียน การใช้ของร่วมกับคนไข้ เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ของเล่น เครื่องเล่น บ้านลูกบอลตามห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

อาการที่พบบ่อย
มีไข้ แผลในปากมักพบหลายตำแหน่ง เช่น ลิ้น เหงือก คอหอย กระพุ้งแก้ม เพดานปาก คนไข้มักเจ็บแผล และทานได้น้อยส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย และภาวะขาดน้ำได้ ส่วนผื่นนั้นไม่จำเป็นต้องพบทุกราย ตำแหน่งที่มักพบคือ มือ เท้า บางรายอาจพบที่ขา ก้น ท้อง แผ่นหลัง หรือใบหน้าได้ ผื่นจะเป็นตุ่มแดง หรือ เม็ดใส

การดำเนินโรค
ไข้มักเป็นอาการแรกที่พบ โดยสามารถพบได้ใน ช่วง 2 วันแรก บางรายอาจมีไข้สูงมาก เด็กจึงอาจเกิดไข้ชักได้ กรณีผู้ป่วยทานอาหาร น้ำ หรือนมได้น้อยจะเกิดอาการอ่อนเพลีย ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย หรือหากรุนแรงจะเกิดภาวะช็อก แต่โดยมากอาการมักไม่รุนแรงและค่อยๆ หายเองได้ใน 7-10 วัน ไข้มักค่อยๆ หายภายใน 3 วัน จากนั้นแผลในปากและผื่นจะหยุดเพิ่มจำนวนและค่อยๆ ยุบลงไปในวันที่ 7-10 ของโรค เมื่อไข้ลดลง แผลในปากเริ่มยุบลง ผู้ป่วยจะเริ่มทานได้มากขึ้น อ่อนเพลียลดลง

ความรุนแรงของโรค
อาการที่นับว่ารุนแรงและต้องรีบมารักษาตัวในโรงพยาบาล มีดังต่อไปนี้
1.ภาวะขาดน้ำรุนแรง คนไข้จะปากแห้งมาก ปัสสาวะห่างมากกว่า 6 ชั่วโมง /ครั้ง
2.การติดเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท คนไข้อาจซึม อาเจียนอย่างต่อเนื่อง ชัก แขนขาอ่อนแรง ระดับการรู้ตัวลดลง
3.ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว คนไข้จะเริ่มตัวเย็น เหงื่อออกมาก ระดับการรู้ตัวลดลง บางรายอาจหอบเหนื่อยจากน้ำท่วมปอด หรือกระตุกแขนและขาเป็นระยะ ซึ่งอาการรุนแรงนี้มักเกิดจากไวรัส Enterovirus 71

การกักตัว
เนื่องจากระยะการแพร่เชื้อนั้นประมาณ 7 วัน จึงแนะนำให้กักตัวที่บ้านเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นในช่วงนี้

การรักษา
หากเด็กทานน้ำ และอาหารได้น้อย แนะนำให้เด็กทานไอศกรีม นมแช่เย็นรสหวาน น้ำเกลือแร่ชงเย็นๆ อาจผสมน้ำหวานได้ หรือโรยเกลือผสมในนมเย็นๆได้ เพราะธรรมชาติของเด็กนั้นชอบรสหวาน และความเย็นจะช่วยให้เจ็บแผลในปากลดลง

คำแนะนำ
หากสังเกตว่าเด็กทานน้ำ นม ข้าวได้น้อยแม้ใช้วิธีข้างต้นแล้ว หรือมีไข้สูง ซึม อ่อนเพลียมาก ให้รีบมาโรงพยาบาล โดยหากแพทย์ประเมินแล้วมีภาวะขาดน้ำหรือไข้สูง อาจต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ตรวจระดับเกลือแร่ในเลือด รวมทั้งสังเกตอาการใกล้ชิดครับ

สุดท้ายการรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันครับ แนะนำให้ ล้างมือบ่อยๆ งดสัมผัสและใช้ของร่วมกับผู้ป่วยครับ

บทความโดย นพ.พงษ์วุฒิ ธนะอนันต์มงคล (หมอแบงก์) กุมารแพทย์ Fulltime ของโรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา

 

 

 

การแพร่ติดต่อ
การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วง
สัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก
น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และเกิดจากไอจามรดกันโดยหายใจเอา
เชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สำหรับการติดเชื้อจากอุจจาระจะเกิดได้ใน
ระยะที่เด็กมีอาการทุเลาจนกระทั่งหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือนแต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า
อาการของโรค
หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย
ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมทานอาหารเนื่องจากมีตุ่ม
แดงที่ลิ้น เหงือกและกระพุ้งแก้มจะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก (มักไม่คัน)ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ
นิ้วเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสบริเวณรอบ ๆ อักเสบและแดง
ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน
การรักษา
โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด
ในรายมีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูแลเด็กควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลด
ไข้เป็นระยะและให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัดดื่มน้ำน้ำผลไม้และพักผ่อน
มาก ๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวดตามปกติ โรคมักไม่รุนแรง
และไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอไวรัส 71 อาจทำให้มีอาการ
รุนแรงได้จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึมไม่ยอมทานอาหารหรือน้ำดื่ม
อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันทีเพราะอาจเกิดภาวะ
สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือน้ำท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันโรค
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควร
แนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่(ก่อนและหลังเตรียม
อาหาร ก่อนรับประทานอาหารภายหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมหลังการดูแลเด็กป่วย) ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูดผ้าเช็ดหน้า

ผ้าเช็ดมือและใช้ช้อนกลางสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ

ส้วมที่ถูกสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วย ต้องรีบแยกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ

ผู้ปกครองควรรับเด็กไปพบแพทย์และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน

หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำตลาดและห้างสรรพสินค้า
ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูก ปาก เวลาไอจามและระมัดระวังการ
ไอจาม รดกันและผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

 

หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก
ผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็ก ต้องดำเนินการ ดังนี้
- ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (ประมาณ 5-7 วัน)
- ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม สระว่ายน้ำ
ครัวโรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้ผงซักฟอก หรือ
สบู่ทำความสะอาดก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที
แล้วล้าง เช็ด แช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
- ทำความสะอาดของเล่น เครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้างแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
- หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึง
แจ้งการระบาดของโรค
- สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค โทร.0 2590 1882
- สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาล
ส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง
- สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2245 8106,0 2354 1836
และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทุกแห่ง

>>>แพคเกจวัคซีนเสริมสำหรับเด็กกดที่นี่<<<

โทรหาเราได้ที่

033-050-600

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่



โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา จำกัด

88/122-123 หมู่ 13 ถนนฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม ตำบลบางตีนเป็ด

อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000

โทรศัพท์ : 033-050-600 แฟกซ์ : 033-050-690