/ Knowledge of Health

สาเหตุของการเกิดอาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

จากกรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่วัคซีนแต่ละยี่ห้อมีอาการไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียงต่างๆ ที่ได้เป็นข่าวอยู่ทุกวัน วันนี้ทางโรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา ขอหยิบยกข้อมูลบางส่วนจากตำราวัคซีน สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย (https://www.pidst.or.th/A370.html) ที่ได้เขียนเอาไว้ ในหัวข้อ อาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
โดยเนื้อหาได้กล่าวถึง อาการข้างเคียงและไม่พึงประสงค์ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับวัคซีนทุกชนิด โดยรายละเอียดเนื้อหามีดังต่อไปนี้


สาเหตุของอาการข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีน

แบ่งออกเป็น 5 สาเหตุ

1. เกิดขึ้นเนื่องจากวัคซีน (Vaccine reactions)
เมื่อร่างกายได้รับวัคซีน ระบบภูมิคุ้มกันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อวัคซีนนั้น ทําให้เกิดอาการเฉพาะที่ได้ เช่น ปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีด หรือเกิดอาการจากปฏิกิริยาต่อระบบอื่นๆ เช่น ไข้ แต่อาการอาจมากน้อยแล้วแต่บุคคล สารอื่นๆในวัคซีน เช่น ตัวเชื้อ สารหยุดยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย สารเสริมฤทธิ์ และ สารกันเสีย ก็อาจก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ได้แต่มักรุนแรงน้อยกว่าและเกิดแค่บางราย

2. เกิดขึ้นเนื่องจากการบริหารจัดการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Programmatic error)
เกิดจากการเก็บ การขนส่ง และการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจจะเกิดการป่วยเพียงรายเดียว หรือเป็นกลุ่ม (cluster) พบว่ามีความสัมพันธ์กับผู้ฉีดวัคซีน ได้รับวัคซีนต่างคนแต่ขวดเดียวกัน หรือจากวัคซีนหลายขวด ซึ่งอาจจะเกิดจากความบกพร่องแบบระบบลูกโซ่ ความผิดพลาดที่พบ ได้แก่
• การให้วัคซีนเกินขนาด
• การฉีดผิดตําแหน่ง
• การใช้เข็มและกระบอกฉีดที่ไม่สะอาด
• การใช้ตัวทําละลายวัคซีนผิดชนิด ปริมาณไม่ถูกต้อง หรือ ปนเปื้อนเชื้อ
• การเตรียมวัคซีนผิดวิธี
• การเก็บวัคซีนไม่ถูกวิธี
• การใช้ยาอื่นแทนวัคซีนหรือตัวทําละลาย
• การฉีดวัคซีนในรายที่มีข้อห้าม
การฉีดที่ไม่สะอาด จะทําให้เกิดการติดเชื้อ เกิดอาการเฉพาะที่ เช่น เกิดฝี (Bacterial abscess) หรือเกิดปฏิกิริยาต่อระบบอื่นๆ เช่น เกิดอาการ sepsis หรือ toxic shock syndrome ซึ่งคนไข้จะมีอาการไข้ ชีพจรเร็ว หายใจเร็ว หรือความดันโลหิตต่ำ นอกจากนี้เทคนิคการฉีดที่ผิดวิธี เช่น ผสมตัวทําละลายกับวัคซีนอย่างไม่สมดุล ฉีดตื้นเกินไป หรือใช้วัคซีนที่แช่แข็ง จะทําให้เกิดฝีไร้เชื้อ (sterile abscess)ได้

3. เกิดขึ้นจากความกังวลหรือความกลัวต่อการฉีดวัคซีน (Injection reactions)
เกิดขึ้นเนื่องจากการตอบสนองของแต่ละบุคคล จากการคิดไปก่อนล่วงหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับสารในวัคซีน
ตัวอย่างเช่น
- อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม มักเป็นอาการทั่วไปที่ไม่รุนแรง จะพบได้ในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ขวบ
อาการเหล่านี้อาจจะเกิดหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว เป็นเวลาหลายนาที

- โรคหายใจเกิน (Hyperventilation syndrome) เกิดจากสภาวะเครียด กังวล คนไข้จะมีอาการหายใจเร็วปลายมือเท้าชา จากนั้นมือเท้าอาจจีบเกร็ง คนไข้จะรู้สึกตัว (ไม่ใช่การชัก) แต่บางรายอาจหน้ามืดและเป็นลมได้
ในเด็กที่อายุน้อยอาจจะมีอาการอื่นๆ เช่น อาเจียน กลั้นหายใจ หรือร้องไห้เพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน เป็นต้น
ความกังวลต่อการฉีดวัคซีนในบางรายอาจกระตุ้นให้ชักได้ ซึ่งพบได้น้อยและมักต้องมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบประสาทเป็นพื้นเดิม

4. เกิดขึ้นโดยบังเอิญ (Coincidental events)
เป็นเพียงเหตุการณ์ร่วม ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากวัคซีน เช่น ในปี พ.ศ. 2539 หลังจากการรณรงค์ให้หยอดวัคซีนโปลิโอ(OPV)ในประเทศหนึ่ง พบว่ามีรายงานผู้ป่วยเกิดอาการอัมพาตหลังจากได้รับ OPV เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า คนไข้ติดเชื้อ wild polio virus มาก่อนหน้าแล้ว
จึงพิสูจน์ได้ว่า การเกิดอัมพาตในเด็กครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากวัคซีน แต่เป็นสาเหตุร่วม (coincidental events)

5. เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Unknown)
เกิดขึ้นโดยไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดได้ แม้ว่าจะได้สอบสวนพิสูจน์หาสาเหตุของการเกิดอาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในทุกด้านแล้วก็ตาม


สรุป : จากข้อมูลข้างต้น อาการที่เกิดขึ้นภายหลังรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค สามารถเกิดขึ้นได้กับวัคซีนทุกชนิด โดยที่อุบัติการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้น้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้รับวัคซีนทั้งหมด จึงเชื่อได้ว่าภาวะนั้นอาจเกิดจากการได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากปฏิกิริยาที่มีต่อร่างกายแต่เป็นอุบัติการณ์ที่พบได้เป็นเรื่องปกติของวัคซีนทั่วไป

ดังนั้น มาร่วมใจกันฉีดวัคซีนโควิด-19 กันนะคะ ไม่ต้องกลัวการฉีดวัคซีนและผลข้างเคียงที่เป็นเรื่องปกติของวัคซีนทั่วไป 

โทรหาเราได้ที่

033-050-600

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่



โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา จำกัด

88/122-123 หมู่ 13 ถนนฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม ตำบลบางตีนเป็ด

อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000

โทรศัพท์ : 033-050-600 แฟกซ์ : 033-050-690