การอัลตร้าซาวด์ เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสะท้อนให้เกิดภาพภายในร่างกายของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูอวัยวะต่างๆ นอกจากจะเอาไว้ดูความสมบูรณ์ หรือความผิดปกติของทารกในครรภ์แล้ว ยังทำให้เห็นถึงความผิดปกติของอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ การใช้คลื่นเสียงนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บหรือความอันตรายใดๆ เป็นวิธีที่ปลอดภัย ซึ่งการอัลตร้าซาวด์นั้นมีหลายแบบ ทั้งทางช่องท้อง และทางช่องคลอด มาดูกันค่ะว่าแตกต่างกันอย่างไร?
1. การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen)
เป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนบน (เหนือสะดือขึ้นไป) ได้แก่ ช่องท้องทั่วไป ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ไต ตลอดจนเส้นเลือดต่างๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีก้อนที่ผิดปกติ นิ่วในไต หรือนิ่วที่ถุงน้ำดี เป็นต้น ผู้ที่ตรวจส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป สามารถตรวจได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
2. การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง (Ultrasound Lower Abdomen)
เป็นการตรวจดูอวัยวะของช่องท้องส่วนล่าง (ใต้สะดือลงมา) ได้แก่ มดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะ ไส้ติ่ง และบริเวณช่องท้องส่วนล่างอื่นๆ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ถุงน้ำรังไข่ ก้อนเนื้อในมดลูก ต่อมลูกหมากผิดปกติ ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น ผู้ที่ตรวจส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนเป็นประจำ หรือประจำเดือนผิดปกติ หรือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป สามารถตรวจได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
เป็นการตรวจอัลตร้าซาวด์ทางนรีเวชที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่แพทย์สงสัยเกี่ยวกับภาวะก้อนต่างๆ ในอุ้งเชิงกราน การอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดจะสามารถตรวจดูสภาพของมดลูกและรังไข่ ตรวจหาถุงน้ำรังไข่ (ซีสต์) รวมถึงกลุ่มอาการภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เนื้องอกในรังไข่ มดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูก หรือก้อนเนื้อภายในอุ้งเชิงกรานได้
จะมีความสะดวกมากกว่าการตรวจอัลตร้าซาวด์บริเวณช่องท้อง เพราะสามารถตรวจได้เลย ไม่จำเป็นต้องกลั้นปัสสาวะ และหัวตรวจชนิดนี้จะเข้าไปใกล้มดลูก และรังไข่ได้มากกว่า ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าด้วย หรือใครที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไม่อยากให้เครื่องมือการตรวจเข้าไปทางช่องคลอด ก็สามารถตรวจทางทวารหนักได้ด้วยนะคะ
สุดท้าย.. หากใครมีอาการผิดปกติ เลือดออกผิดปกติ คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย ปวดท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ แนะนำมาอัลตร้าซาวด์นะคะ โดยสูติ-นรีแพทย์ จะเป็นผู้วินิจฉัยและเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยค่ะ มาโรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทราได้พบแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่ครั้งแรกเลยค่ะ