หน้าแรก / ความรู้สุขภาพ

อุจจาระร่วง อาเจียน เป็นไข้ เกิดจากเชื้ออะไรได้บ้าง ?

ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีผู้ป่วยเกิดอาการอุจจาระร่วงมาพบแพทย์เป็นจำนวนมาก จึงอยากมาให้ความรู้และแนวทางการป้องกัน ก่อนที่เด็กๆ จะต้องหยุดเรียนและผู้ใหญ่จะต้องลางาน เพราะอาการอุจจาระร่วงไปมากกว่านี้ ซึ่งไวรัสและแบคทีเรียที่แพทย์พบว่ามีคนติดเชื้อเป็นจำนวนมากมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

อะดีโนไวรัส
-เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะได้หลายส่วน เช่น เยื่อบุตาอักเสบ, เส้นเสียงอักเสบ, หลอดลมส่วน ปลายอักเสบ, ปอดบวม, นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารอีกด้วย เช่น อาเจียน, ถ่ายเหลว เป็นต้น เชื้อมักมีการแพร่ระบาดผ่านระบบทางเดินหายใจ จากการหายใจเอาละอองน้ำมูกเสมหะที่มีเชื้อไวรัส และปนเปื้อนเชื้อในอาหาร น้ำดื่ม

โรต้าไวรัส
- เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ หลังจากได้รับเชื้อมักจะมีอาการป่วยได้ภายใน 2 วัน ได้แก่ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้และชักในเด็กเล็กได้ เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ อาการเป็นได้นาน 3-7 วัน หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการรุนแรงได้ เชื้อมักมีการแพร่ระบาดผ่านการปนเปื้อนเชื้อในอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัสเข้าทางปากและไปเจริญอยู่ที่ผนังลำไส้

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า เด็กเล็กทุกคนควรได้รับวัคซีนโรต้าตั้งแต่อายุ 2 เดือน เด็กที่ได้รับวัคซีนนี้ครบแล้ว อาจยังเกิดโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่ค่อยรุนแรง

โนโรไวรัส
- เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในทางเดินอาหาร หลังจากได้รับเชื้อมักจะมีอาการป่วยได้ภายใน 12-48 ชั่วโมง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง และอาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว สูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ เชื้อมีการแพร่ระบาดได้ง่ายจากการสัมผัส สารคัดหลั่ง หรือร่างกายที่สัมผัสกับอุจจาระที่มีการติดเชื้อ และเข้าทางปาก เชื้อสามารถอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 2 สัปดาห์

เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา
- หลังจากได้รับเชื้อมักจะมีอาการป่วยได้ภายใน 12–36 ชั่วโมง ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นไข้ มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ซึ่งเชื้อจะคงอยู่ประมาณ 2-7 วัน ส่วนอาการท้องเสียอาจคงอยู่ประมาณ 10 วัน ส่วนผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน

เชื้อแบคทีเรียชิเกลลา
- เป็นเชื้อที่ก่อโรคในลำไส้ เชื้อสามารถเข้าไปแบ่งตัวและสามารถทำลายเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ เมื่อเซลล์ตายจะทำให้เกิดการอักเสบ เป็นหนอง และเกิดแผลในลำไส้ ระยะเริ่มแรก อาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง เจ็บขณะถ่ายอุจจาระ อาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ และอาจเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ อาการเป็นได้นาน 5-7 วัน

การป้องกันอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ ทำอย่างไร ?
- ป้องกันโดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหาร ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้อยู่เป็นประจำ หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ ให้ทานอาหารที่ปรุงสุก ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำที่สะอาด

อาการอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสกับเชื้อแบคทีเรียจะคล้ายกัน แตกต่างกันตรงที่หากมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดร่วมด้วย อาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียมากกว่า ถึงแม้อาการจะคล้ายกัน แต่การรักษานั้นต่างกัน ถ้าเป็นแบคทีเรียจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ แต่ไวรัสโดยส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ

กุมารแพทย์ย้ำ!! หากมีอาการไม่มาก เบื้องต้นแนะนำให้ดื่มน้ำ จิบเกลือแร่ เพื่อชดเชยอาการขาดน้ำ หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง และหากมีอาการ ไข้สูง เวียนศีรษะ ถ่ายเป็นมูกเลือด ควรรีบมาโรงพยาบาลนะคะ หรือไม่มั่นใจมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ตรงจุดนะคะ

โทรหาเราได้ที่

033-050-600

พร้อมบริการทุกวัน 24 ชม.

หากท่านมีข้อคำถาม หรือต้องการให้คำแนะนำ ติชม

สามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่



โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา จำกัด

88/122-123 หมู่ 13 ถนนฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม ตำบลบางตีนเป็ด

อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000

โทรศัพท์ : 033-050-600 แฟกซ์ : 033-050-690